ไม่มีหมวดหมู่

อยากติดตั้งเครื่องเสียงกลางแจ้ง (Public Address) ต้องรู้อะไรบ้าง?

หากพูดถึงเครื่องเสียงกลางแจ้ง หลายท่านก็คงพอจะนึกออกว่าคืออะไร เพราะในชีวิตประจำวันของเราต่างคุ้นเคยเป็นอย่างดี ในฐานะผู้ฟังเราเคยได้ยินเสียงประกาศหรือเสียงเพลงตามห้างสรรพสินค้า เครื่องเสียงในสนามกีฬา งานดนตรี งานคอนเสิร์ต เป็นต้น เหล่านี้เองที่ใช้ระบบเสียง แบบเครื่องเสียงกลางแจ้ง หรือ Public Address (P.A.)

ซึ่งระบบเสียงลักษณะนี้คือ การกระจายเสียงในพื้นที่สาธารณะ และต้องการให้เสียงที่ส่งออกไปครอบคลุมผู้ฟังจำนวนมาก กินพื้นที่การกระจายเสียงกว้าง หรือในพื้นที่กลางแจ้งนั่นเอง

สำหรับท่านใดที่กำลังศึกษาเรื่องการติดตั้งเครื่องเสียงกลางแจ้ง (P.A.) ก่อนอื่นมารู้จักกับอุปกรณ์หลัก ๆ ในระบบเสียงกันก่อน ซึ่งมีเพียง 2 ประเภท ได้แก่

1.ทรานสดิวเซอร์ (Transducer) คืออุปกรณ์ที่ทำหน้าที่แปลงพลังงานจากรูปแบบหนึ่งไปเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งในระบบเสียงจะมีอยู่สองทรานสดิวเซอร์ก็คือ ไมโครโฟน ที่ทำหน้าที่แปลงพลังงานเสียงเป็นพลังงานไฟฟ้า และ ลำโพง ที่ทำหน้าที่แปลงพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานเสียง

2.แอมปลิฟายเออร์ (Amplifier) หรือที่เราคุ้นเคยกับชื่อเรียกสั้นๆ ว่า แอมป์ (Amp) คืออุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนหรือเพิ่มความกว้างของคลื่นเสียงหรือความดังของสัญญาณ (Amplitude) ให้มากขึ้น

ขั้นตอนการทำงานของระบบเสียง

เมื่อทราบถึงประเภทของอุปกรณ์หลักในระบบเสียงแล้ว ต่อไปจำเป็นจะต้องรู้ถึงขั้นตอนการทำงานของระบบเสียง ซึ่งสามารถแบ่งเป็นขั้นตอนได้ดังต่อไปนี้

– กระบวนการเริ่มต้นด้วยแหล่งกำเนิดเสียง เช่นเสียงมนุษย์ ที่สร้างคลื่นเสียงหรือพลังงานเสียงขึ้นมา

– คลื่นเสียงจากแหล่งกำเนิดเสียงจะผ่านอุปกรณ์ทรานสดิวเซอร์ ซึ่งก็คือไมโครโฟน แปลงสัญญาณให้เป็นพลังงานไฟฟ้า

– สัญญาณไฟฟ้าที่แปลงมาจากไมโครโฟนจะมีสัญญาณอ่อนมาก จึงต้องถูกส่งต่อไปยังเครื่องขยายเสียงเพื่อขยายสัญญาณให้กว้างขึ้น

– จากนั้น ลำโพงซึ่งเป็นอุปกรณ์ทรานสดิวเซอร์อีกตัว ก็จะทำหน้าที่แปลงสัญญาณไฟฟ้ากลับมาเป็นคลื่นเสียงที่เราได้ยินนั่นเอง

องค์ประกอบเบื้องต้นในระบบเสียง

หลังจากได้ทราบถึงอุปกรณ์หลัก และขั้นตอนการทำงานของระบบเสียงแล้ว ส่วนสุดท้ายที่ควรรู้ก่อนที่จะติดตั้งเครื่องเสียงกลางแจ้ง เพื่อให้ทราบถึงกลไกต่างๆ ก็คือ องค์ประกอบเบื้องต้นในระบบเสียง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นระบบเสียงขนาดเล็กหรือใหญ่ ก็ล้วนมีองค์ประกอบเหมือนกัน ดังต่อไปนี้

1.ภาคอินพุต (Input) คือภาคสัญญาณเข้า เป็นจุดแรกที่รับสัญญาณจากแหล่งกำเนิดเสียง เช่น เสียงร้อง เสียงพูดจากมนุษย์ เสียงเครื่องดนตรี เสียงเครื่องเล่นต่างๆ โดยจะมีอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนแหล่งกำเนิดเสียงให้เป็นคลื่นไฟฟ้าความถี่เสียง อุปกรณ์นี้ก็เช่น ไมโครโฟน

2.ภาคโปรเซสเซอร์ (Processor) คือภาคประมวลผล ที่ทำหน้าที่ต่อจากภาคอินพุต ด้วยการรับสัญญาณเข้ามาเพื่อมาปรับแต่งด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ ตามที่ต้องการ แล้วส่งต่อไปยังภาคขยายเสียง ซึ่งอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ปรับแต่งหรือประมวลผลก็ได้แก่ มิกเซอร์ อีควอไลเซอร์ คอมเพรสเซอร์ ครอสโซเวอร์ เอฟเฟ็กซ์แต่งเสียงอื่นๆ คอนโทรลเลอร์ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้มีลักษณะการทำงานที่แตกต่างกันไป ดังนี้

มิกเซอร์ (Mixer) คืออุปกรณ์ผสมสัญญาณเสียงต่างๆ ที่รับมาจากไมโครโฟน ไม่ว่าจะเป็นเสียงพูด เสียงร้อง เสียงเครื่องดนตรี เครื่องเล่นต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ก่อนที่จะส่งสัญญาณไปที่ระบบขยายเสียง ซึ่งมิกเซอร์จะมีทั้งแบบอะนาล็อก ซึ่งใช้วงจรไฟฟ้าในการปรับแต่งเสียง และแบบดิจิตอลที่ถูกพัฒนาให้ใช้งานได้สะดวกขึ้นและเป็นที่นิยมในปัจจุบัน มิกเซอร์จะปรับความแรงของสัญญาณเสียง (Gain) ให้เหมาะสม รวมถึงปรับแต่งเสียงต่าง ๆ เช่น EQ คอมเพรสเซอร์ เอฟเฟ็กต์ ที่มีมาให้ในมิกเซอร์ ปรับระดับความดังของเสียงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นระบบเสียงเล็ก ๆ หรือระบบเสียงกลางแจ้งก็ตาม

อีควอไลเซอร์ (Equalizer) หรือ EQ มีหน้าที่ในการควบคุมและชดเชยย่านความถี่ของเสียง (Frequency) ให้อยู่ในระดับสัญญาณที่เหมาะสม ตามที่ผู้ใช้งานต้องการ โดยอีควอไลเซอร์ มีองค์ประกอบพื้นฐานดังนี้

– ค่า Gain หรือค่าในการปรับระดับความดังของเสียงในย่านความถี่ที่ต้องการผ่าน

– ค่า Frequency หรือค่าความถี่ของสัญญาณเสียง มีหน่วยเป็นเฮิร์ตซ์ (HZ) ซึ่งสามารถปรับเป็นย่านความถี่ตามการใช้งานได้ เช่น ความถี่เสียงต่ำ (Low) เป็นความถี่ระดับพื้นฐาน ที่จะทำให้เพิ่มหรือลดความหนักแน่นของดนตรีได้ ย่านความถี่เสียงกลาง (Midrange) ที่เป็นย่านของเนื้อเสียง ไม่ว่าจะเป็นเสียงพูดหรือเสียงดนตรี และย่านความถี่เสียงสูง (Hi) ที่ช่วยเพิ่มหรือลดความสดใสของดนตรี เสียงร้อง หรือเสียงพูดได้

– ค่า Q คือการกำหนดค่าความกว้างและความแคบของช่วงความถี่เสียง เพื่อสร้างสมดุลของความถี่เสียง

คอมเพรสเซอร์ (Compressor) เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในงานมิกซ์เสียงดนตรีสด โดยทำหน้าที่ควบคุมระดับความแรงของสัญญาณเสียงไม่ให้เกินค่าที่เรากำหนดไว้ คอมเพรสเซอร์มีหลักการทำงานโดยการบีบอัด หรือกดระดับสัญญาณเสียง ซึ่งสามารถสร้างคาแรกเตอร์ของเสียงให้มีความหนา กลม กระชับมากขึ้น

เอฟเฟ็กต์ (Effect) ทำหน้าที่เพิ่มสีสันและลูกเล่นในการมิกซ์เสียงสำหรับนักร้องหรือเครื่องดนตรี ซึ่งปัจจุบันมิกเซอร์แบบดิจิตอลส่วนใหญ่จะมีฟีเจอร์เหล่านี้มาด้วย และผู้ใช้ยังสามารถเพิ่มเติมเอฟเฟ็กต์เข้าไปได้ตามต้องการ

3.ภาคเอาท์พุต (Output) คือ ภาคสัญญาณออก โดยหลังจากได้รับสัญญาณคลื่นไฟฟ้าความถี่เสียงมาจากภาคขยาย จะทำหน้าที่เปลี่ยนสัญญาณเป็นคลื่นเสียง และกระจายออกไปสู่ผู้ฟัง ซึ่งอุปกรณ์ภาคเอาท์พุตประกอบด้วย

– เครื่องขยายเสียง (Power amp) คือ อุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนหรือเพิ่มความกว้างของคลื่นเสียงของสัญญาณที่อินพุตเข้ามา หรือก็คือการเพิ่มความดังเพื่อส่งต่อไปยังลำโพง

– ลำโพง (Speaker) เป็นอุปกรณ์ลำดับสุดท้ายในระบบเสียง ทำหน้าที่เป็นแหล่งกำเนิดเสียง ซึ่งมีทั้งลำโพงแบบแอคทีฟ ที่มีภาคขยายเสียงในตัว และลำโพงแบบพาสสีฟ ที่ไม่มีภาคขยายเสียง ต้องใช้เพาเวอร์ในการขับเสียง ลำโพงถือเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมากในการจะบอกว่าระบบเสียงนั้นดีและดังมากแค่ไหน ดังนั้นอาจพบได้ว่าลำโพงดีๆ จึงมักจะมีราคาสูง ซึ่งลำโพงมีอยู่หลายประเภท แบ่งตามลักษณะการกำเนิดเสียงดังนี้

– ลำโพงพอยต์ซอร์ส (Point Souce Speaker) หรือ ลำโพงแหล่งกำเนิดเสียงเดียว เป็นลำโพงรูปแบบแรกๆ การทำงานไม่ซับซ้อน เพียงต่อสาย ตั้งขาตั้งก็สามารถใช้งานได้แล้ว แต่ข้อจำกัดคือ ไม่เหมาะกับการใช้งานในพื้นที่ใหญ่ หรือสถานที่กว้างๆ

– ลำโพงไลน์อาเรย์ (Line Arrey Speaker) คือลำโพงที่แขวนเรียงกันเป็นเส้น ข้อดีของลำโพงชนิดนี้คือ ให้เสียงที่ดัง สามารถใช้งานในสถานที่ใหญ่ๆ ได้ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในงานคอนเสิร์ต

– ลำโพงซับวูฟเฟอร์ (Sub Woofer) หรือลำโพงเสียงเบส เป็นโพงที่ค่อนข้างใหญ่ มีขนาดปกติตั้งแต่ 8-15 นิ้ว ให้พลังเสียงในย่านต่ำ ที่ความถี่ประมาณ 20-120 เฮิรตซ์ ช่วยให้ระบบเสียงมีความหนักแน่น ทรงพลัง

– ลำโพงคอลัมน์ (Column Speaker) คือตู้ลำโพงที่มีดอกลำโพงหลายดอกอยู่ในตู้เดียวกัน ลำโพงชนิดนี้จะสามารถช่วยการสะท้อนของเสียงจึงได้รับความนิยมนำไปใช้ในระบบเสียงห้องประชุม เป็นต้น

เมื่อได้ทราบถึงอุปกรณ์หลักๆ ของระบบเสียง และอุปกรณ์พื้นฐานต่าง ๆ ตลอดจนขั้นตอนการทำงาน และองค์ประกอบของระบบเสียงเบื้องต้นไปแล้ว การติดตั้งเครื่องเสียงกลางแจ้งก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคุณอีกต่อไป เพียงแต่ต้องใช้เวลาศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและเลือกใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมและมีคุณภาพ ก็จะช่วยให้งานระบบเสียงของคุณมีประสิทธิภาพและเป็นที่พึงพอใจ